จังหวัดนครปฐม จัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง พร้อมเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว

วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 เวลา 15.30 น. นางสาวอโรชา นันทมนตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานเปิดโครงการ : รณรงค์และประชาสัมพันธ์ “สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” (ACT NOW to end Violence against Women and Girls) จังหวัดนครปฐม “กิจกรรมเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” ณ บริเวณหน้าร้านหนังสือ ซีเอ็ด สาขาเซ็นทรัลนครปฐม ขั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลนครปฐม ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม โดยมี นางศิริลักษณ์นางศิริลักษณ์ พึ่งเนียม รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาสังคม และกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม ร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้


นางกิจติยา ใสสอาด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ตามที่องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น วันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ซึ่งประเทศไทยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็น เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ ยุติความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวเป็นประจำทุกปี โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีเจตจำนงประสานการขับเคลื่อนการยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบ ผลักดันนโยบายและมาตรการเพื่อปกป้องและคุ้มครองทุกเพศ ทุกวัย โดยปี 2567 กำหนดให้หน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จัดกิจกรรมรณรงค์ ภายใต้แนวคิด สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง (ACT NOW to end Violence against Women and Girls) เพื่อส่งสารและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้ตระหนักว่าความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาระดับสังคมที่ทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และนับเป็นหนึ่งภัยเงียบของสังคมที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย ทุกที่ ทุกเวลา
ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในปี 2567 มีจำนวน 2,523 ราย เป็นผู้ถูกกระทำ จำนวน 2,216 ราย มีผู้ถูกกระทำในช่วงอายุ 36 – 59 ปี มากที่สุด จำนวน 740 ราย รองลงมาคืออายุ 19 – 35 ปี จำนวน 584 ราย โดยพบว่า สามีเป็นผู้กระทำมากที่สุด จำนวน 827 ราย
สำหรับจังหวัดนครปฐม มีจำนวน 24 ราย และเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลความรุนแรงที่มาจากหลายหน่วยงาน พบว่า
1. เหตุปัจจัยที่เกิดจากผู้กระทำความรุนแรง เช่น ปัญหาการเสพสุรา/สิ่งเสพติด การขาดทักษะการควบคุมอารมณ์ เป็นต้น
2. เหตุจากความสัมพันธ์ในครอบครัว ความขัดแย้งไม่ลงตัวระหว่างคู่สามี-ภรรยา การขาดความรู้ในการดำเนินชีวิตคู่สมรส รวมทั้งปัญหาความแตกต่างกันระหว่างผู้เยาว์กับผู้สูงอายุ
3. เหตุจากสภาวะชุมชน ได้แก่ ครอบครัวประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ การขาดความช่วยเหลือจากชุมชน และแนวคิดของชุมชนยอมรับความรุนแรงเป็นเรื่องภายในครอบครัว
4. สาเหตุจากแนวคิดของสังคม ได้แก่ ค่านิยม ความเชื่อ จารีตที่ยืดถือ เช่น แนวความคิดเรื่องผู้ปกครองมีอำนาจปกครองเหนือบุตร เชื่อมโยงกับความคิดว่า ความรุนแรง เป็นเรื่องส่วนตัว เป็นต้น


สำหรับกิจกรรม ในวันนี้ประกอบด้วย การนำเสนอสารจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เนื่องในเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว การติดเข็มกลัดริบบิ้นสีขาว และกิจกรรมเดินรณรงค์ พร้อมแจกสื่อประชาสัมพันธ์ โดยได้รับความร่วมมือด้านสถานที่จัดโครงการฯ จากห้างเซ็นทรัลนครปฐม และการจัดบูธนิทรรศการจากสมาคมฟ้าสีรุ้งจังหวัดนครปฐมกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เด็กเยาวชน ประชาชนทั่วไปในจังหวัดนครปฐม
………………….